สพป.จันทบุรี เขต 1

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


          หลวงพ่อพุธ ฐานิโย หรือ พระราชสังวรญาณ เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ท่านมีนามเดิมว่า พุธ อินทรหา บิดาชื่อ นายพร มารดาชื่อ นางสอน อินหา ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ณ หมู่บ้านชนบท ตำบลหนองหญ้าเซ้ง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ ในช่วงอายุได้ 4 ขวบ บิดา-มารดาได้ถึงแก่กรรม ท่านกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก ท่านจึงย้ายมาอยู่กับญาติพี่น้องที่ หมู่บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

          ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2472 อายุท่านได้ 8 ขวบ จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนประชาบาลวัดไทรทอง ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จนจบชั้นประถมปีที่ 6 เมื่อมีอายุได้ 14 ปี ในสมัยนั้นถ้าย้อนหลังไป 60-70 ปี การได้เรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 6 ได้ ต้องถือว่าเป็นการเรียนที่สูงพอสมควรแล้ว เมื่อเรียนจบแล้วครูบาอาจารย์ได้ชักชวนท่านให้เป็น "ครู" สอนนักเรียนในโรงเรียนที่ท่านเรียนนั้นต่อ หากทว่าจิตของท่านมุ่งมั่นสนใจที่จะบวชมากกว่า

          ต่อมา เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านจึงได้ขอร้องให้ญาติซึ่งเป็นผู้ปกครองของท่านพาไปบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอินทร์สุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีท่านพระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์เป็นพระบรรพชาจารย์ และสามเณรพุธได้อาศัยอยู่จำพรรษากับท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์นั่นเอง ท่านได้รับเมตตาจากพระอาจารย์ให้ได้ศึกษาทางด้านปริยัติธรรมด้วย และในพรรษาแรกนี้เอง สามเณรพุธสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

          ปี พ.ศ. 2480 หลังจากออกพรรษา เป็นเหตุบังเอิญให้ในขณะนั้นที่ท่าน เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) ได้เดินธุดงค์มายังจังหวัดสกลนคร ในฐานะเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค 4 แทนพระอาจารย์ของสามเณรพุธ อันได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ได้เกิดความเมตตาต่อสามเณรพุธเป็นอย่างมาก สามเณรพุธจึงมีโอกาสได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ธุดงค์ออกจากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก ต้องเดินด้วยเท้าไปตามทางเกวียน ผ่านป่าเขาต่างๆ ท่านเล่าว่า "ต้องใช้เวลาถึง 31 วัน จึงเดินเท้ามาถึง จังหวัดอุบลราชธานี" ในระหว่างทาง บางทีเหนื่อยนักเมื่อยนักก็พักค้างแห่งละ 2 - 3 วัน บางช่วงในขณะที่เดินรอนแรมในป่า ก็หลงดงหลงป่าบ้าง บางวันไม่ได้ฉันข้าว เพราะหมู่บ้านห่างกันมาก เดินทางออกจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจนค่ำก็ยังไม่เจอหมู่บ้านอีกที่หนึ่งเลย ป่าดงในสมัยนั้นก็ยังมีสัตว์ป่าชุกชุม บางครั้งได้ยินเสียงเสือเสียงสัตว์ต่างๆ ร้อง บางครั้งเสือมันก็กระโดดข้ามทางที่จะเดินไปก็มี

เมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าพักที่วัดบูรพา และฝากตัว เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์พร (พี่ชายของพระอาจารย์บุญ ชินะวังโส) ท่านพระอาจารย์พรเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ซึ่งในขณะนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาด้วย สามเณรพุธจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ และเริ่มรับการอบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นครั้งแรก แต่เดิมทีในสมัยแรก ที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ท่านได้บรรพชาในสังกัดมหานิกายคณะ


ที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้ นอกจากจะได้รับการอบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังได้ศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมอีกด้วย และสามารถสอบได้นักธรรมเอก เมื่อมีอายุเพียง 18 ปี

ต่อมา ปี พ.ศ. 2483 พระอาจารย์พรได้ส่งสามเณรพุธ ไปยังกรุงเทพฯ พร้อมกับมีหนังสือฝากสามเณรพุธกับท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ให้ช่วยอบรมสั่งสอน สามเณรพุธจึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และสามารถสอบได้เปรียญ 4 ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรนั่นเอง

สามเณรพุธได้จำพรรษาเรื่อยมา ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร แห่งนี้ จนอายุได้ครบบวช ในปี พ.ศ. 2485 ท่านจึงได้รับการอุปสมบท โดยมีท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) พระอาจารย์ของท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า "ฐานิโย"

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2487 เป็นสมัยสงครามเอเซียบูรพา ท่านได้อพยพกลับไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี และท่านได้อยู่จำพรรษา ที่วัดนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2489 ในระหว่างนั้นท่านได้เกิดอาพาธหนักเป็นวัณโรคอย่างแรง มีหมอมารักษาตั้งหลายคน แต่แล้วก็สู้ไม่ไหว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่านพระ อาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดบูรพา ตามคำสั่งของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เช่นกัน ท่านพระอาจารย์ฝั้นสอนให้ ท่านตั้งใจเพ่งอาการ 32 โดยให้พิจารณาถึงความตายให้มากที่สุด ทั้งยังคอยให้กำลังใจกับท่านตลอดเวลา



หลวงพ่อพุธ ท่านเล่าว่า ขณะที่ท่านป่วยเป็นวัณโรคนั้น ท่านต้องรักษาพยาบาลตัวเอง ตั้งหน้าตั้งตามุ่งมั่นปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา โดยมุ่งที่จะพิจารณาดูความตายเท่านั้น โดยคิดว่า "ก่อนที่เราจะตายนั้น ควรจะได้รู้ว่า ความตายคืออะไร" จึงได้ตั้งอกตั้งใจพิจารณาดูความตาย อยู่เป็นเวลาหลายวัน ในวันสุดท้ายได้ค้นคว้าพิจารณาดูความตายอยู่ถึง 7 ชั่วโมง ในตอนแรกที่พิจารณา เพราะความอยากรู้อยากเห็นว่า ความตาย คืออะไร ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นอาการของกิเลส กิเลสจึงปิดบังดวงใจ ทำให้ความสงบใจที่เป็นสมาธิก็ไม่มี ความรู้แจ้งเห็นจริงก็ไม่มี ท่านเริ่มนั่งสมาธิตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนกระทั่งเวลาตี 3 จนเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแทบจะทนไม่ไหว ในขณะนั้นความรู้สึกทางจิตมันผุดขึ้นมาว่า

"ชาวบ้านชาวเมือง ทั้งหลายเขานอนตายกันทั้งนั้น ท่านจะมานั่งตาย มันจะตายได้อย่างไร"

ท่านจึงเอนกายลงพร้อมกับกำหนดจิตตามไปด้วย เมื่อเกิดความหลับขึ้น จิตกลายเป็นสมาธิแล้ว จิตก็แสดงอาการตาย คือวิญญาณออกจากร่างกายไปลอยอยู่ เบื้องบนเหนือร่างกายประมาณ 2 เมตร แล้วส่งกระแสออกมา รู้กายที่นอน เหยียดยาวอยู่ แสดงว่าได้รู้เห็นความตาย ลักษณะแห่งความตาย ในเมื่อตายแล้ว ร่างกายก็ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังไปตามขั้นตอน ในเมื่อร่างกายที่มองเห็น อยู่นั้นสลายตัวไปหมดแล้ว ก็ยังเหลือแต่จิตว่าง จิตว่างแล้วก็ยังมองเห็นโลก คือแผ่นดิน ในอันดับต่อมาโลกคือแผ่นดินก็หายไป คงเหลือแต่จิตดวงเดียว ที่สว่างไสวอยู่ มองหาอะไรก็ไม่พบ พอจิตมีอาการไหว เกิดความรู้สึกขึ้นมา ก็เกิดความนึกคิดขึ้นมาว่า "นี่หรือคือความตาย" อีกจิตหนึ่งก็ผุดขึ้นมารับว่า "ใช่แล้ว" ก็เป็นอันว่าได้รู้จริงเห็นจริงในเรื่องของความตายด้วยประการฉะนี้


จิตปล่อยวาง : หลวงพ่อพุธ ฐานิโย



อ้างอิงข้อมูลจาก

กล่องแสดงความคิดเห็น

สาธุ สาธุ สาธุ
บันทึก : 2023-05-01 14:32:51 เขียนโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง
สาธุ
บันทึก : 2023-05-01 19:25:37 เขียนโดย ใยฝ้าย แก้วดิเรก



บทความโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง


พรณรงค์
พรณรงค์ ทรัพย์คง


IMG